มะพลับ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะพลับ 16 ข้อ

สมุนไพรมะพลับ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะนิง ถะยิง (นครราชสีมา), มะเขื่อเถื่อน (สกลนคร), ตะโกสวน ปลาบ (เพชรบุรี), ตะโกไทย (ภาคกลาง), ตะโกสวน พลับ มะพลับใหญ่ (ทั่วไปเรียก), มะสุลัวะ (ลำปาง-กะเหรี่ยง) เป็นต้น[1],[2]
ข้อควรรู้ : ต้นมะพลับเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอ่างทอง

ลักษณะของมะพลับ

  • ต้นมะพลับ มีถิ่นกำเนิดในป่าดงดิบของประเทศไทย อินเดีย และในชวาเกาะเซลีเบส[4] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาปนดำ หรือบางทีแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีน้ำและความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดจัด มะพลับเป็นไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณกันชน ระหว่างป่าบกและป่าชายเลน ชายป่าพรุ บริเวณชายคลอง ป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ป่าละเมาะริมทะเล และตามเรือกสวนทั่วไป ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2-30 เมตร (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าประมาณ 50-400 เมตร) ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย[1],[2],[4]

สรรพคุณของมะพลับ

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2]
  2. ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2]
  3. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น)[6]
  4. เปลือกและผลอ่อนใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (เปลือกและผลอ่อน)[6]
  5. เปลือกและผลแก่มีรสฝาดหวาน ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก แก้คออักเสบ ด้วยการใช้เปลือกและผลแก่นำมาต้มเป็นยาอม กลั้วคอ (เปลือกและผลแก่)[6]
  6. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2]
  7. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วงให้ใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกและผลอ่อน,ผลดิบ,เมล็ด)[6]
  8. เปลือกต้นนำมาย่างให้กรอบชงกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้กามตายด้าน แก้ความกำหนัด บำรุงความกำหนัด (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2]
  9. เปลือกต้นใช้เป็นยาทาสมานบาดแผลและช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น,เนื้อไม้)[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ผลดิบเป็นยาห้ามเลือด และใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณบาดแผล สมานแผล (เปลือกและผลอ่อน,เปลือกต้น,ผลดิบ)[6]

ประโยชน์ของมะพลับ

  1. ผลมะพลับแก่สามารถใช้รับประทานได้[2]
  2. เนื้อไม้มะพลับสามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึง และใช้ในงานแกะสลักได้[2]
  3. เปลือกต้นให้น้ำฝาดที่นำมาใช้สำหรับการฟอกหนัง[2]
  4. ยางของลูกมะพลับจะให้สีน้ำตาล เมื่อนำมาละลายกับน้ำจะใช้ย้อมผ้า แห และอวนเพื่อให้มีความทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางจากลูกมะพลับจะมีคุณภาพที่ดีกว่า เพราะไม่ทำให้เส้นด้ายแข็งกรอบเหมือนลูกตะโก จึงทำให้ยางของลูกมะพลับมีราคาดีกว่าลูกตะโกมาก จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของลูกตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก[2]
  5. สำหรับการปลูกต้นมะพลับเพื่อใช้งานด้านภูมิทัศน์นั้น สามารถปลูกได้ตามริมน้ำ เพื่อให้ร่มเงาได้ดี เพราะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ[3]
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าต้นมะพลับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ด้วยเชื่อว่าการปลูกต้นมะพลับไว้ในบริเวณบ้านจะทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศใต้[2]
  7. บางตำราก็ว่ามะพลับเป็นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศใต้ แต่ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้แน่ชัด คาดว่าคงเป็นเพราะต้นมะพลับเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี หากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เชื่อว่าจะทำให้มีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนดังต้นมะพลับ[6]
References
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะพลับ (Ma Phlap)”.  หน้า 228.
  2. สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก.  “มะพลับ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: webhost.cpd.go.th/plkcoop/download/b006.pdf.  [17 พ.ค. 2014].
  3. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร.  “มะพลับ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com.  [17 พ.ค. 2014].
  4. ศูนย์การเรียนคณิตศาสตร์ Online .  “ต้นไม้ประจำจังหวัดอ่างทอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/mc41/.  [17 พ.ค. 2014].
  5. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “มะพลับ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.  [17 พ.ค. 2014].
  6. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “ตะโกสวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.  [22 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by jayeshpatil912, Carmen Beatriz Silveira Paixão, techieoldfox, Rekha Shahane, Shubhada Nikharge, manwar hossain, Ahmad Fuad Morad)

Share on Google Plus

About ddd

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น