พังแหร

พังแหร ชื่อสามัญ Peach cedar[4], Pigeon wood (อังกฤษ), Peach-leaf poison bush (ออสเตรเลีย)[5]
พังแหร ชื่อวิทยาศาสตร์ Trema orientalis (L.) Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Celtis guineensis Schumach. & Thonn., Celtis orientalis L., Sponia orientalis (L.) Decne., Trema guineensis (Schum. & Thonn.) Ficalho ฯลฯ) [1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กัญชา (CANNABACEAE)
สมุนไพรพังแหร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอ (เชียงใหม่), พังแหร (แพร่), พังแหรใหญ่ พังแกรใหญ่ ตายไม่ทันเฒ่า (ยะลา), ขางปอยป่า ปอแฟน ปอหู ปอแหก ปอแฮก (ภาคเหนือ), ตะคาย (ภาคกลาง), ปะดัง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กีกะบะซา บาเละอางิงิ (มลายู นราธิวาส), พังอีแร้, พังอีแหร[1],[2], ปอแต๊บ (ไทลื้อ), ด่งมั้ง (ม้ง), ตุ๊ดอึต้า (ขมุ), ไม้เท้า (ลั้วะ)[4] เป็นต้น

ลักษณะของพังแหร

  • ต้นพังแหร จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 4-12 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งลู่ลง ตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม เปลือกต้นเป็นสีเขียวอมเทาอ่อนหรือน้ำตาล ผิวบางเรียบเกลี้ยงหรือมีรอยแตกตามยาวบาง ๆ และมีรูอากาศมาก ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีเขียวสด มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น โมลัคคาล์ นิวกินี และประเทศเขตร้อนในทวีปแอฟริกา ส่วนในประเทศไทยมักพบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ป่าเบญจพรรณ และตามชายป่าดงดิบ ที่ระดับความสูง 600-1,500 เมตร[1],[2]

  • ใบพังแหร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบจักแบบเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ยอดอ่อนมีขนสีเงินขึ้นหนาแน่น ผิวใบสากคาย ส่วนใบแก่ด้านบนมีขนหยาบขึ้นประปราย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทาเป็นหย่อมแน่น ๆ ปะปนกับขนสีเงินที่ยาวกว่า เส้นใบออกจากฐานใบ 3-5 เส้น ทอด 1/2-3/4 ตามยาวของใบ เส้นใบข้างโค้งมาก มี 4-8 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.4-1.7 เซนติเมตร มีร่องและมีขนขึ้นหนาแน่น มักมีประสีชมพูหรือม่วง มีหูใบเป็นรูปหอก ขนาดประมาณ 2.6 มิลลิเมตร ไม่เชื่อมกัน[1]

  • ดอกพังแหร ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ เป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวอมเขียว โดยจะมีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกช่อ โดยดอกเพศผู้จะมีจำนวนดอกมากกว่า 20 ดอก ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีดอกประมาณ 15-20 ดอก ดอกย่อยมีกลีบรวม 5 กลีบ มีขน ดอกเพศผู้ช่อแน่นและแตกแขนงยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ดอกมักเป็นคู่ มีก้านของช่อข้างล่างโค้งลง ชั้นกลีบเลี้ยงแยกเป็น 4-5 พู ไม่ซ้อนกัน ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ตรงข้ามกับพูกลีบเลี้ยง 4-5 อัน ส่วนดอกเพศเมียก็คล้ายกัน แต่ช่อจะโปร่งกว่า มีเกสรเพศเมียแยก 2 กิ่ง รังไข่ไม่มีก้านชู[1]


  • ผลพังแหร ผลเป็นผลสด มีลักษณะกลมแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีม่วงดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงติดที่ฐาน และปลายเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ยอดผล เนื้อภายในบาง ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง มีเมล็ดเพียง 1 เมล็ด ส่วนก้านผลมีความยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร จะออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

สรรพคุณของพังแหร

  • แก่นหรือรากใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาเย็น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (แก่น, ราก)[1]
  • เปลือกต้นและใบใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก (เปลือกต้นและใบ)[1]
  • ลำต้นและกิ่งใช้เป็นยาชงแก้ไข้ ใช้กลั้วปากแก้อาการปวดฟัน (ลำต้นและกิ่ง)[1]
  • ตำรายาไทยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จะใช้เปลือกต้นนำมาเคี้ยวอมไว้ประมาณ 30 นาที เป็นยาแก้ปากเปื่อย (เปลือกต้น)[1]
  • ผลและดอกใช้ทำเป็นยาชงสำหรับเด็ก เพื่อรักษาหลอดลมอักเสบ ปวดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (ผลและดอก)[1]
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้บิด ถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น)[1]
  • น้ำต้มจากใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม (ใบ)[1]
  • ที่ประเทศแอฟริกาจะใช้รากพังแหรเป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้เลือดออกที่กระเพาะอาหารและลำไส้ และใช้เป็นยาห้ามเลือด (ราก)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพังแหร

  • ลำต้นและเปลือกรากพังแหร พบสาร decussatin, decussating glycosides, lupeol, methylswertianin, p -hydroxybenzoic acid, sweroside, scopoletin, (-)-epicatechin ส่วนเปลือกต้นพังแหรพบสาร simiarenone, simiarenol, episimiarenol, (-)-ampelopsin F, (-)-epicatechin, (+)-catechin, (+)-syringaresinol, N-(trans-p-coumaroyl) tyramine, N-(trans-p-coumaroyl) octopamin, trans-4-hydroxycinnamic acid, สารไตรเทอร์ปีน trematol[1]
  • จากการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า แพะที่กินยอดและใบสดของพังแหร จะตายจากอาการเกิดพิษต่อตับ[1] โดยสารพิษที่ออกฤทธิ์ คือ สาร Trematoxin glycocides (อาจเป็นพวก cyanogenetic) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตับ ส่วนมากสัตว์กินแล้วจะตาย ส่วนสัตว์ที่ฟื้นตัวอาจไม่มีผลผลิตไปนานหลายเดือน โดยมีความเป็นพิษต่อแพะสูง รองลงมาคือ แกะ โค และม้า อาการป่วยที่แสดง คือ สัตว์จะไม่กินอาหาร ตัวสั่น กระตุก ตื่นเต้น ลำไส้อักเสบ ไม่รู้สึกตัว และตาย (มีโอกาสน้อยมากที่แพะจะกินพืชชนิดนี้เองตามธรรมชาติ เพราะต้นพังแหรจะมีความสูงทำให้แพะกินไม่ถึง เมื่อมีเกษตรกรนำใบพังแหรมาเลี้ยงสัตว์ ในระยะแรกจะพบว่าแพะสามารถกินได้เป็นอย่างดี จึงนำมาให้แพะกินเป็นประจำหรือเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนกระทั่งเกินกว่าร่างกายของแพะจะขับพิษออก พิษที่สะสมอยู่จึงทำอันตรายต่อตับและแสดงอาการป่วยจนถึงตายในที่สุด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนำใบพังแหรมาใช้เลี้ยงแพะจะปลอดภัยที่สุด แม้ว่าแพะจะชอบกินก็ตาม)[5]

ประโยชน์ของพังแหร

  • เปลือกต้นนำมาลอกออกใช้สำหรับทำเชือกมัดสิ่งของ[1],[4]
  • ใบใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา[4]
  • ผลสุกใช้เป็นอาหารของนก[4]
  • ไม้พังแหรเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่ทนทาน ปลวกชอบกิน แต่สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างชั่วคราวหรือใช้ก่อสร้างโรงเรือนขนาดเล็กที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนักได้[3],[4] รวมถึงเครื่องจักสาน เครื่องใช้สอย และอุปกรณ์ทางการเกษตร[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำได้ดี เพราะโตเร็ว เหมาะสำหรับปลูกฟื้นคืนสภาพป่าในที่ชุ่มชื้น[3] ส่วนที่แอฟริกาจะนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกป่าและปลูกเป็นร่มเงาสำหรับต้นกาแฟ[5]
References
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พังแหร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [04 ต.ค. 2015].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “พังแหรใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [04 ต.ค. 2015].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “พังแหรใหญ่”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [04 ต.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พังแหรใหญ่, ปอแฟน, ตะคาย”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [04 ต.ค. 2015].
  5. สนง.ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี.  “พังแหร: พืชอันตราย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pvlo-pni.dld.go.th.  [04 ต.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (Keith Bradley, Forest and Kim Starr, 潘立傑 LiChieh Pan, Foggy Forest, Shubhada Nikharge, judymonkey17)


Share on Google Plus

About ddd

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น