ประโยชน์ของผักผลไม้

จากการสำรวจสุขภาพของประชาชนชาวไทย เมื่อปี พ.ศ.2551-2552 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงไทยเพียง 18.5% ที่รับประทานผักและผลไม้ได้ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งกำหนดให้รับประทานผักผลไม้วันละ 400-600 กรัม แต่ที่น่าห่วงที่สุด คือ กลุ่มเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี พบว่ามีเพียง 6.8% เท่านั้นที่รับประทานผักผลไม้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอนั้น จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น
หากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ เราจะต้องแบกรับภาระจากปัญหาสุขภาพในระยะยาว เพราะมีรายงานว่า 31% ของคนเป็นโรคหัวใจ, 19% ของคนเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร และ 11% ของคนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุหลักมาจากการรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอต่อวัน อีกทั้งพฤติกรรมการรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคอ้วนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยภาวะโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า


ประโยชน์ของผักผลไม้

  1. ผักผลไม้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานผักผลไม้เป็นประจำจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงมีอายุยืนยาว และมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต
  2. ผักผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ รวมไปถึงโรคมะเร็ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งลำไส้)
  3. ช่วยป้องกันความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย บำรุงสุขภาพและอวัยวะภายในร่างกาย
  4. การรับประทานผักผลไม้เป็นประจำจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ และช่วยป้องกันโรคท้องผูกได้
  5. ผักผลไม้บางชนิดยังสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดและรักษาโรคบางชนิดได้อีกด้วย เช่น ไข้หวัด ร้อนใน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ตาฝ้าฟาง แผลอักเสบ เหน็บชา เป็นต้น
  6. ผักผลไม้บางชนิดก็เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เช่น กล้วย แอปเปิ้ล มะละกอ ผักสลัด ถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด เป็นต้น
  7. การรับประทานผักผลไม้สามารถช่วยพัฒนาสมอง เสริมสร้างความจำ และเป็นอาหารสมองได้เป็นอย่างดี เพราะสารอาหารที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท มักจะพบได้ในอาหารจำพวกผักใบเขียว ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
  8. ช่วยบำรุงสายตา ผักผลไม้บางชนิดจะมีวิตามินสูง สารอาหารที่ชื่อว่าลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารอาหารที่สำคัญในการบำรุงสายตา โดยผักผลไม้ที่วิตามินเอสูง ได้แก่ แครอท ฟักทอง ผักบุ้ง ผักคะน้า ตำลึง มะละกอ มะม่วงสุก เป็นต้น
  9. การรับประทานผักผลไม้ก็ทำให้ผิวพรรณของคุณดูสวยงามขึ้นได้ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้มีหุ่นเพรียวสวยแล้ว ผักผลไม้บางชนิดยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินอี ซึ่งเป็นอาหารผิวที่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของผิว ทำให้ผิวพรรณมีเลือดฝาด ผิวดูมีสุขภาพดีและเรียบเนียน อีกทั้งยังช่วยในการสังเคราะห์คอลาเจนในเซลล์ จึงช่วยทำให้ผิวแน่นและยืดหยุ่น เต่งตึง ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควรได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของผักผลไม้ 5 สี

  • ผักผลไม้สีเขียว โดยสารที่ให้สีเขียวก็คือสารคลอโรฟิลล์ และยังมีสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติบำรุงสุขภาพ เช่น ลูทีน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง และลดการเกิดความเสื่อมของจอประสาทตาได้ เป็นต้น ผักผลไม้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ชะอม ผักคะน้า ผักโขม บล็อกโคลี่ ชมพู่เขียว แตงไทย ฝรั่ง พุทรา น้อยหน่า มะกอกน้ำ อะโวคาโด องุ่นเขียว แอปเปิ้ลเขียว ฯลฯ
  • ผักผลไม้สีขาวหรือสีน้ำตาล จะมีสารฟลาโวนอยด์อยู่หลายชนิด ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยลดอาการปวดข้อเข่า ซึ่งจะพบได้มากในเนื้อและเปลือกมังคุด แก้วมังกรเนื้อขาว ฝรั่ง แอปเปิ้ล และผลไม้อื่น ๆ เช่น กล้วย เงาะ ลางสาด ลองกอง ลิ้นจี่ พุทรา เป็นต้น
  • ผักผลไม้สีเหลืองหรือสีส้ม จะมีสารเบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยด์ วิตามินซี ที่่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง กระตุ้นการกำจัดเซลล์มะเร็งของร่างกาย ช่วยดูแลรักษาสุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และระบบภูมคุ้มกันภายในร่างกาย ผักผลไม้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้าวโพด แครอท ฟักทอง กล้วย ขนุน แคนตาลูปสีเหลือง มะละกอสุก ส้ม สับปะรด แอปริคอต เป็นต้น
  • ผักผลไม้สีแดงหรือสีชมพูอมม่วง จะมีสารในกลุ่ม Lycopene และ Betalain ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากของผู้ชาย ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปริมาณของไขมันร้าย (LDL) ภายในเลือด และบำรุงระบบทางเดินปัสสาวะ โดยจะพบอยู่ในผักผลไม้จำพวกดอกกระเจี๊ยบ แก้วมังกรเนื้อชมพู แตงโม ตะขบ ชมพู่แดง เชอร์รี่ มะเขือเทศ มะละกอเนื้อแดง หัวบีทรูท หัวหอม สตรอเบอร์รี่ แอปเปิ้ลแเดง เป็นต้น
  • ผักผลไม้สีม่วงแดงหรือสีม่วงหรือสีน้ำเงิน จะอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และกลุ่ม Polyphenol ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ป้องกันการทำลายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต ช่วยปกป้องทุกเซลล์ให้พ้นภัยจากเซลล์มะเร็งตัวร้าย ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผนังหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดท้องเสีย ช่วยต้านไวรัส และลดการอักเสบได้ ผักผลไม้กลุ่มนี้ได้แก่ กะหล่ำปลีม่วง ข้าวเหนียวดำ ข้าวแดง ข้าวนิล ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แดง ถั่วดำ ถั่วแดง เผือก มันสีม่วง มะเขือม่วง หอมแดง ดอกอัญชัน น้ำว่านกาบหอย ลูกหว้า ลูกไหน ลูกพรุน บลูเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ องุ่นแดง องุ่นม่วง เป็นต้น

คำแนะนำในการรับประทานผักผลไม้

  • ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายสีสัน หรือรับประทานให้ครบทั้ง 5 สี เนื่องจากผักผลไม้แต่ละสีจะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันออกไป ไม่ควรรับประทานผักผลไม้ซ้ำ ๆ เดิม ๆ
  • ให้เลือกรับประทานผักผลไม้โดยดูจากความหวาน โดยควรเลือกรับประทานชนิดที่มีรสหวานจัด (ขนุน, ลิ้นจี่, มะม่วงสุก, ทุเรียน, ลำไย), รสหวานปานกลาง (เงาะ, มะม่วงดิบ, ส้ม, สับปะรด,), และรสหวานน้อย (ชมพู่, ส้มโอ, แอปเปิ้ล) สลับกันไป ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากจนเกินไปด้วย
  • เปลือกผลไม้บางชนิดก็มีประโยชน์มากนะครับ ปอกทิ้งไปก็เสียดาย อย่างเช่นเปลือกแอปเปิ้ล นักวิจัยพบว่าเปลือกแอปเปิ้ลแดงหนึ่งผลมีสารต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับวิตามินซี 820 มิลลิกรัม หรือเปลือกมันฝรั่งที่อุดมไปด้วยไปใยอาหารและแร่ธาตุบางชนิดมากกว่าเนื้อมันฝรั่งเสียอีก เป็นต้น
  • ก่อนนำผักผลไม้มารับประทานคุณควรนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงยาฆ่าแมลงด้วยครับ อ่านบทความเรื่องการล้างผักได้ที่ 16 วิธีการล้างผักผลไม้ให้สะอาด
  • เลือกรับประทานผักผลไม้ตามกรุ๊ปเลือดที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ
    • กรุ๊ป A คนกรุ๊ปนี้จะมีปริมาณกรดในกระเพาะต่ำ ระบบย่อยทำงานไม่ดีเท่าที่ควร จึงไม่เหมาะกับอาหารจำพวกเนื้อหรือนม แต่จะเหมาะกับอาหารมังสวิรัติจำพวกผักผลไม้ และควรเลือกรับประทานผักผลไม้ที่ช่วยเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น สับปะรด เชอร์รี่ เป็นต้น
    • กรุ๊ป B คนกรุ๊ปนี้เป็นคนอ้วนง่าย เพราะร่างกายมีระบบย่อยดี แต่เผาผลาญได้ไม่ดี มักมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เป็นภูมิแพ้ หรือเป็นหวัดง่าย และมักปวดตามข้อ จึงแนะนำให้รับประทานผลไม้ที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย เช่น กล้วย มะละกอ องุ่น เป็นต้น
    • กรุ๊ป O คนกรุ๊ปนี้กระเพาะอาหารจะมีกรดในปริมาณมาก จึงเหมาะกับการย่อยเนื้อสัตว์ แต่ระบบเผาผลาญไม่ดี จึงทำให้อ้วนได้ง่าย จึงแนะนำให้รับประทานผลไม้ที่มีความเป็นกรดน้อยไปช่วยสร้างสมดุลในกระเพาะได้ โดยจะไม่ทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคือง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ และเกรปฟรุต เป็นต้น
    • กรุ๊ป AB คนกรุ๊ปนี้มักมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันและมีกรดในกระเพาะต่ำ ควรรับประทานผักผลไม้และเนื้อให้มีความสมดุลกัน เพื่อช่วยรักษาสมดุลในกระเพาะอาหาร เช่น พลัม สับปะรด ส้มโอ องุ่น และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น
  • สัดส่วนของการรับประทานผักผลไม้ต่อวันคือ ให้รับประทานผัก 3 ส่วน และผลไม้อีก 2 ส่วน (รับประทานผักมากกว่าผลไม้)
  • ผักผลไม้บางอย่างอาจมีสารพิษในตัวมันเอง ถ้ารับประทานในปริมาณน้อยก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่หากรับประทานในปริมาณมากอาจจะเป็นพิษได้ หรือบางชนิดก็รับประทานแบบดิบ ๆ ไม่ได้ ต้องนำมาทำให้สุกหรือผ่านกระบวนการให้ความร้อนเสียก่อน สารพิษจึงจะสลายตัว
  • ผักผลไม้บางชนิดอาจมีสารหรือแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโทษกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคได้ ซึ่งผู้ป่วยเรื้อรังก็ควรพึงระวังด้วยครับ เช่น ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีกรดออกซาลิกสูง (Oxalic acid) เช่น มันสำปะหลัง ผักโขม ผักแพว ปวยเล้ง ใบชะพลู แครอท เป็นต้น หรือผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ถั่วฝักยาว ผักกูด ผักแว่น แมงลัก กะเพรา เป็นต้น หรือผู้ป่วยโรคไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลี เป็นต้น (โดยเรื่องนี้เราจะกล่าวโดยละเอียดในบทความหน้าครับ จะได้ทราบว่าผู้ป่วยโรคใดบ้างที่ควรงดรับประทานผักผลไม้บางชนิด และทำไมถึงควรงดรับประทาน)

การเลือกรับประทานผักผลไม้

  • ผักผลไม้ชนิดใดที่ที่สุด? ไม่มีชนิดใดดีที่สุดครับ เพราะสารสำคัญในผักผลไม้ชนิดต่าง ๆ จะทำงานออกฤทธิ์ส่งเสริมเกื้อหนุนกัน
  • ผักดิบกับผักสุก มีประโยชน์เหมือนกันหรือไม่? ผักสุกอาจสูญเสียวิตามินบางชนิดได้ เช่น วิตามินซี ที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน แต่บางคนอาจประสบปัญหาท้องผูกจากการรับประทานผักดิบได้ หรือมีอาการท้องเสียเพราะล้างผักไม่สะอาด แต่ผักบางชนิดเองหากรับประทานแบบสุกก็จะมีประโยชน์มากกว่า เช่น มะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกหรือผ่านกระบวนต่าง ๆ เพราะร่างกายจะนำไลโคปีนไปใช้ได้ดีกว่าแบบดิบหรือสดครับ
  • น้ำผักผลไม้มีประโยชน์เหมือนผักผลไม้สด ๆ หรือไม่? น้ำผักผลไม้จะไม่มีกากใยอาหารเหมือนกับการรับประทานแบบสด ๆ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้รับประทานผักผลไม้สดก็อาจดื่มน้ำผักผลไม้เสริมก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรคั้นดื่มเอง เนื่องจากน้ำผักผลไม้สำเร็จรูปจะมีปริมาณของน้ำตาลที่สูง
  • ผักผลไม้แห้งดีหรือไม่ดี? ผักผลไม้แห้งบางอย่างที่เติมเกลือ ก็จะมีผลต่อโรคความดันโลหิตสูง จึงควรรับประทานแต่น้อย ส่วนผักผลไม้แห้งที่ใส่น้ำตาลจะให้พลังงานสูงกว่าผักผลไม้สดประมาณ 1 เท่าตัว แต่ถ้ารับประทานมากก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน
  • ผักผลไม้บรรจุกระป๋องหรือแช่แข็ง มีประโยชน์หรือไม่? กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้ แต่ก็อาจทำให้สูญเสียวิตามินบางชนิดไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเสื่อมคุณภาพเสียทีเดียว อย่างไรก็ตามถ้าเป็นผักผลไม้กระป๋องก็ควรเลือกชนิดที่ไม่เติมเกลือและน้ำตาล หรือเลือกชนิดที่ใส่สารแต่งเติมให้น้อยที่สุด ส่วนผักผลไม้แช่แข็งก็ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น
  • สารสกัดจากผักผลไม้สามารถทกแทนผักไม้สดได้หรือไม่? ผักผลไม้แปรรูปที่อยู่ในรูปของอาหารเสริมหรือสารสกัดไม่สามารถทดแทนการรับประทานผักผลไม้สดได้ หรือผักผลไม้สดจะมีทั้งกากใบ วิตามิน และเกลือแร่มากมายหลายชนิด
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)


Share on Google Plus

About ddd

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น